Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

มองฝันวันข้างหน้า
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศศักดิ์
บริษัทซัคเซส มีเดีย จำกัด ปี 2541 ราคา 139 บาท

          ในช่วงสหัสวรรษที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้พบวิกฤติการณ์ มามากมายหลายหน วิกฤติการณ์แต่ละครั้งได้ทำลายอะไรบางอย่างของประเทศลงไป มากทีเดียว นับตั้งแต่ต้องสูญเสียเอกราช สูญเสียนครหลวง สูญเสียอาณาเขต และสุดท้ายคือสูญเสียความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจ ของตนเองจนกระทั่งต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

          วิกฤติการณ์แต่ละครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันที หากเกิดวิกฤติการณ์ย่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ และเมื่อไม่ได้รับการขจัดปัดเป่าให้หมดสิ้น ก็กลายเป็น วิกฤติการณ์ที่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ อย่างมากมายมหาศาล

          คนไทยมีธรรมชาติเป็นคนง่ายๆ ไม่ชอบคิดอะไรลึกซึ้ง ไม่ชอบการวางแผน ไม่ชอบมองไปข้างหน้า ด้วยเหตุนี้แม้จะ มีวิกฤติการณ์ย่อยๆ ให้เห็นอยู่ตำตาก็เพิกเฉยเสีย ดังที่เราได้เห็นจาก ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยทุกยุคทุกสมัย สภาพเช่นนี้เองที่ทำให้ผู้บริหารบ้านเมืองของไทยโดย เฉพาะนักการเมืองไทยไม่สามารถคิดอ่านพัฒนาประเทศไทย ให้เจริญ รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าที่เข้ามารับผิดชอบบริหารบ้านเมือง ก็มัวแต่แก้ปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นวันต่อวัน ไม่ได้คิด วางแผนที่จะป้องกันปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้น หากแนวความคิดเรื่องนี้ยังไม่เข้าใจกันชัดเจนแล้ว ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติได้

          การที่จะมองไปข้างหน้าได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการศึกษา ในเรื่องของอนาคตอย่างถูกหลักเกณฑ์ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการนั้น ได้จัดพิมพ์หนังสือทางด้านนี้ ออกมาหลายเล่ม แต่ละเล่มล้วนมีคุณค่าให้ศึกษาติดตาม ดร. เกรียงศักดิ์นั้นจู่ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้นในบรรณพิภพวิชาการของไทยเมื่อสิบปีเศษ มานี้เอง หลังจากนั้นก็ได้ส่งหนังสืออันมีคุณค่าออกมาให้อ่าน กันมากมายหลายสิบเล่ม

          หนังสือเรื่อง มองฝันวันข้างหน้า เป็นหนังสือที่มีชื่อรองว่า วิสัยทัศน์ประเทศไทย ปี 2560 ซึ่งอาจารย์เกรียงศักดิ์ได้เกริ่นไว้ว่า เกิดขึ้นเมื่อได้รับเชิญให้ไปร่วมในการสัมมนาเชิงปฏิบัติ การในหัวข้อเรื่อง "ร่วมสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ พ.ศ. 2560" ที่จัดโดยสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2540 คือเมื่อสามปีเศษมาแล้ว หลังจากนั้นอาจารย์เกรียงศักดิ์ก็กลับ มาเขียนหนังสือนี้เพื่อนำเสนอความคิดในการสร้าง "อุดมการณ์แห่งชาติ" ขึ้น

          คำๆ นี้ ดร. เกรียงศักดิ์ ได้ให้นิยามไว้ว่า "ระบบความคิดที่คนในชาติ ยึดถือเป็นส่วนรวมเพื่อการธำรงรักษาสร้างสรรค์ชาติ และทุกคนในชาติมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้บรรลุถึงร่วมกัน "

          แนวความคิดนี้ขณะนี้ ( ตค. 2543) ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐ แห่งใดนำไปผลักดัน แม้จะมีการกล่าวถึงเรื่องทำนองนี้อยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในรูป แบบของภาพสรุปวิสัยทัศน์ของประเทศ ดังเช่นในการประชุมเรื่องวิสัยทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ในปี ค.ศ. 2020 ที่ทาง สวทช. เป็นผู้จัดก็มีการอภิปรายว่าภาพรวมของวิสัย ทัศน์จะเป็นไปในทำนองว่า ไทยจะเป็น "ครัวของโลก" ได้หรือไม่

          การเป็นครัวของโลกก็เป็นอุดมการณ์ของประเทศได้เหมือน กัน แต่สำหรับทางอาจารย์เกรียงศักดิ์เองนั้นได้เสนอแนวทางอุดม การณ์ของชาติไว้ให้คิดหลายข้อเหมือนกัน อาทิ

  • สังคมยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระ ประมุข
  • สังคมที่ทุกคนเคารพสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
  • สังคมที่คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
  • สังคมที่ทุกคนกินดีอยู่ดี
  • สังคมพหุเอกานิยม (เอกภาพในความหลากหลาย)
  • สังคมที่ทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรม
  • สังคมที่สร้างสันติภาพกับโลก
  • สังคมแห่งปัญญา
  • สังคมแห่งความสุข
  • สังคมแห่งการเรียนรู้
  • สังคมที่มีประสิทธิภาพ
  • ฯลฯ
          อุดมการณ์แห่งชาติที่จะเป็นสังคมต่างๆ ตามที่อาจารย์เกรียงศักดิ์ ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างนั้น ผมคิดว่าดีไปหมดทุกอย่าง จะให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้ แต่ก็ยังนึกคำที่จะแสดงอุดมการณ์รวบยอดทั้งหมดไม่ออก

          ในบทที่ว่าด้วยวิสัยทัศน์นั้น อาจารย์ เกรียงศักดิ์ ได้หยิบยกนิยามของคำว่าวิสัยทัศน์มาให้พิจารณา แล้วสรุปว่า วิสัยทัศน์คือ "ภาพชัดเจนที่มองอนาคต สะท้อนความปรารถนา ความใฝ่ฝัน และความตั้งใจที่จะไปให้ถึงภาพนั้นด้วย ความเชื่อมั่นว่าสามารถไปถึงได้" ในหน้าต่อมา อาจารย์ได้นำเอาสุภาษิตจีนบทหนึ่งมาลงไว้ ให้คิดว่า "ถ้ามีวิสัยทัศน์เพื่อเวลา 1 ปีให้ปลูกข้าวสาลี ถ้ามีวิสัยทัศน์ เพื่อทศวรรษให้ปลูกต้นไม้ แต่ถ้ามีวิสัยทัศน์ยาวนานชั่วชีวิต ให้ปลูกชีวิตคนรุ่นต่อ ไป" หลังจากนั้นอาจารย์ได้ให้คำนิยามที่กว้างขวางออกไปถึง วิสัยทัศน์แห่งชาติ ว่าหมายถึง "ภาพลักษณ์ในอนาคตของประเทศชาติด้านต่างๆ ที่มีความชัดเจน สอดคล้องกับอุดมการณ์ชาติซึ่งเป็น ความใฝ่ฝัน ความปรารถนาสูงสุดร่วมกันของคนในชาติ จนก่อ ให้เกิดแรงบันดาลใจและความตั้งใจที่จะไปให้ถึง ภาพนั้นด้วยความเชื่อมั่นร่วมกันของคนในชาติ ประเทศชาติที่มีวิสัยทัศน์จะไม่มุ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะดำเนินการเพราะเล็งผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว "

          ผมเองสอนเรื่องวิสัยทัศน์มานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยกำหนด ลักษณะของวิสัยทัศน์แห่งชาติได้กว้างขวางมากเท่ากับอาจารย์ เกรียงศักดิ์ ซึ่งท่านได้ระบุว่า วิสัยทัศน์แห่งชาติจะต้อง

  • สะท้อนอุดมการณ์แห่งชาติ
  • เป็นของประชาชน
  • ชัดเจน
  • น่าพึงปรารถนา
  • ยิ่งใหญ่
  • เป็นจริงได้
  • เพื่ออนาคต
  • กระตุ้นแรงบันดาลใจ
  • ส่งผลปฏิบัติการเชิงรุก
  • เกิดการ "ร่วมแรง" ทำจนสำเร็จ
          หลังจากนั้น ดร. เกรียงศักดิ์ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละด้านเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสร้างให้ประเทศไทยกลับมาเป็นอารยรัฐ

          ผมจะไม่นำรายละเอียดวิสัยทัศน์ในแต่ละด้านมาวิจารณ์ แต่อยากจะชี้ว่า ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ ดร.เกรียงศักดิ์ได้ชี้ประเด็นไว้หลายเรื่องที่ทางกลุ่มนักคิดนักบริหารงานวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะกำหนดเทคโนโลยีกลุ่มเป้าหมายซึ่งดร.เกรียงศักดิ์เน้นไว้ด้านที่คล้ายกันหมดคือเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และ เทคโนโลยีชีวภาพ การกำหนดให้มีหน่วยงานกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเพิ่มจำนวนนักวิจัยให้ได้ถึง 40 คนต่อประชากร 10,000 คน การจัดตั้งเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทางเนคเทคกำลังผลักดันภูเก็ตให้เป็น CyberPort อยู่

          โดยภาพรวมแล้วหนังสือเล่มนี้น่านำมาอ่านแล้วคิด คิดแล้วหาทางนำบางส่วนไปปฏิบัติ อาจจะเริ่มต้นจากในหน่วยงานเล็กๆ ที่ทุกคนมีส่วนร่วม จากนั้นจึงขยายออกไปมากขึ้นๆ จนกระทั่งทั้งประเทศมีความเข้าใจที่ตรงกัน

          จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้ก็คือการเขียนประโยคและความหมายต่างๆ ของอาจารย์เกรียงศักดิ์ยังไม่ค่อยรัดกุมนัก ในบางครั้งอาจจะอ่านแล้วสับสนบ้าง เช่น การกล่าวว่า วิสัยทัศน์ คือภาพชัดเจนที่มองอนาคต นั้น ผมคิดว่าควรจะเปลี่ยนเป็นภาพของอนาคตที่มองเห็นได้ชัดเจน หรือในกรณีของการนิยามวิสัยทัศน์แห่งชาตินั้น ผมยังคิดว่าอาจจะตัดประโยคท้ายๆ ออกได้เพราะไม่ใช่นิยาม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ น่าที่นักการเมืองที่จะลงสมัครแข่งขันนำไปใช้เป็นคัมภีร์คิดว่าจะนำประเทศไทยของเราไปสู่อุดมการณ์และวิสัยทัศน์ได้อย่างไร

22 ตุลาคม 2543

Back